top of page

Knowledge

วิธีสอนลูกให้จัดการความโกรธ โดยไม่ต้องใช้กำลัง


คุณแม่ท่านหนึ่งปรึกษาเข้ามาว่า


“.....ลูกชายอายุ 6 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป. 1 เวลาโกรธเพื่อนมักใช้วิธีชกหน้าเพื่อน โชคดีที่ครูประจำชั้นเห็นทัน และเพื่อนใช้มือป้องกันตัวเองไว้จึงยังไม่โดนเข้าเต็มแรง ครูรีบโทรมาแจ้งคุณแม่ก่อน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์แล้ว แม่รู้ว่าต้องฝึกให้ลูกควบคุมอารมณ์ให้ดีกว่านี้แต่ไม่รู้ว่ามีวิธีใดอีกบ้างนอกจากการอบรมสั่งสอนที่เค้าก็คงเบื่อหน่าย.....”


สิ่งที่คุณแม่ปรึกษาครูเข้ามาแท้จริงแล้วคือ การจัดการกับอารมณ์โกรธ หรือ Anger Management ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากของเด็กทุกคนที่จะต้องควบคุม และจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้พอดิบพอดีได้เพื่อไม่ให้ตนเองทุกข์เกินไปหรือทำร้ายผู้อื่นรวมถึงทำลายข้าวของทรัพย์สินเสียหาย ถ้าเด็กจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดีก็จะมี EQ ที่ดีตามมา และถ้า EQ ดีเด็กก็จะสุขเป็นแม้จะไม่สมบูรณ์ด้วยบุคคลหรือทรัพยากรบางอย่างก็ตาม


ครูจึงแนะนำคุณแม่ในประเด็นที่สำคัญที่จะช่วยลูกให้จัดการกับอารมณ์โกรธได้ ดังต่อไปนี้


(1) กอดลูกไว้เสมอ


เด็กหลายคนควบคุมอารมณ์ยังไม่ได้ เมื่อมีเรื่องกระทบใจก็มักร้องไห้ ขอให้คุณพ่อ คุณแม่กอดลูกไว้ด้วยใจที่สงบยังไม่ต้องตัดสินอะไร อ้อมกอดที่อบอุ่นถ่ายทอดให้เด็กรู้ถึงความรัก ความห่วงใย พ่อแม่อยู่กับเค้าตรงนี้ เค้ามีคนที่รักเค้า ลูกไม่รู้สึกว่ากำลังเผชิญปัญหาคนเดียว และบอกกับลูกว่า “แม่อยากฟังเรื่องของหนูนะ ถ้าพร้อมแล้วเล่าให้แม่ฟังหน่อย แม่อยากช่วยลูกนะ” เพียงเท่านี้แม้ลูกยังไม่หยุดร้องไห้แต่ใจเค้าก็เริ่มพองฟูและอยากจะเล่าเรื่องราวให้พ่อแม่ฟังในเวลาอันใกล้นี้แล้ว ให้เวลาลูกได้หยุดสะอื้น และเมื่อเค้าพร้อมแล้วเค้าจะค่อยๆเล่าทุกอย่างเท่าที่เค้าสามารถจะเล่าได้


(2) ฟังลูกด้วยหัวใจ


เมื่อลูกเล่าให้ฟัง พ่อแม่ต้องมองตาลูกด้วยความใส่ใจ พยักหน้าเป็นระยะ สะท้อนความรู้สึกที่ออกมาจากคำพูดของลูกเพื่อให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเค้า ยินดีรับฟังเค้า และเข้าใจเค้า เช่น “หนูโกรธมากที่ข้าวหอมล้อชื่อหนู หนูก็เลยทำแบบนั้น ถ้าเป็นแม่ตอนเด็กๆแม่ก็คงโกรธเหมือนกัน”


(3) คุยกันถึงวิธีจัดการปัญหาโดยไม่ต้องทำร้ายผู้อื่น


เมื่อลูกสงบและพร้อมที่จะฟัง พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกให้รู้จักจัดการปัญหาโดยไม่ต้องใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น ในกรณีเพื่อนยียวนด้วยการพูดหรือการแกล้งใดๆก็ตาม พ่อแม่สามารถฝึกลูกให้บอกเพื่อนว่า “อย่าทำแบบนี้ เราไม่ชอบ” ด้วยน้ำเสียงที่จริงจังและมองตาอีกฝ่ายเพื่อให้รู้ว่าเราเอาจริง พ่อแม่ควรให้ลูกแสดงบทบาทสมมุติให้ดูด้วย ถ้าเสียงเบาเกินไป และท่าทางยังไม่จริงจังก็ต้องฝึกให้เสียงดังขึ้น ถ้าพูดแล้วเพื่อนยังไม่ยอมหยุดต้องให้ลูกบอกว่า “ถ้าทำอีก เราจะบอกครู” แล้วเดินออกมาจากเพื่อนคนนั้น


(4) ยกตัวอย่างให้ลูก “เห็นภาพ” ถึงปัญหาที่จะตามมาถ้าลูกทำร้ายเพื่อน


อธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยภาษาง่ายๆแต่มีเหตุผล และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงในกรณีที่ทำร้ายเพื่อน เช่น เพื่อนอาจมีเลือดออก และบาดเจ็บมากกว่าที่เราคิดไว้ พ่อกับแม่ของเพื่อนก็จะโกรธจนโทรศัพท์มาขอคุยกับคุณพ่อ คุณแม่ ทำให้ไม่สบายใจทั้งสองฝ่าย


(5) ***เรื่องสำคัญที่ครูอยากฝากคุณพ่อ คุณแม่ไว้ และมักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามทั้งที่มีความละเอียดอ่อนมาก คือ

ไม่ควรเริ่มต้นบทสนทนาเหมือนลูกผิดตั้งแต่แรก เช่นในกรณีครูหรือพ่อแม่ของเด็กที่ถูกทำร้ายโทรมาหา เมื่อกลับถึงบ้านไม่ควรบอกกับลูกว่า


“วันนี้ไปทำอะไรไว้ ครูโทรมาเล่าให้แม่ฟังแล้วนะ”


“พ่อของข้าวหอมโทรมาหาแม่ ทำไมหนูไปชกหน้าเค้าอย่างนั้นล่ะลูก”


ประโยคข้างต้นให้ความรู้สึกพุ่งเป้าว่า “ลูกทำผิด” ไม่มีเด็กคนไหนอยากเปิดใจกับใครภายใต้บรรยากาศที่เค้าถูกตัดสินแล้วว่า “เขาผิด” ใจที่ไม่สงบไม่สามารถทำให้เด็กจัดการกับอารมณ์ได้ พ่อแม่อย่าได้หวังว่าลูกจะเล่าทุกอย่างออกมาจากใจเมื่อท่านเริ่มต้นพูดคุยด้วยบทสนทนาที่ครูได้ยกตัวอย่างไว้


ถ้ารอดูแล้วและพบว่า “ลูกไม่เล่า” พ่อแม่ควรชวนลูกคุยถึงชีวิตในโรงเรียนวันนี้ และถามไถ่ไปถึงเพื่อนๆของลูก เมื่อลูกเริ่มเล่าจึงค่อยๆชวนคุยถึงเพื่อนคู่กรณี และย้อนทำตามข้อ 1 - 4 ที่ครูได้บอกไว้ ไม่จู่โจมบู่มบ่ามเอ่ยชื่อเพื่อนที่มีปัญหากันอยู่อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ต้องใช้จังหวะที่เหมาะสม โอกาสที่ใช่ในการกล่าวถึง นี่ล่ะค่ะที่เค้าเรียกว่าเลี้ยงลูกต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งไม่ง่ายเลยแต่ก็ไม่ยากจนเกิดความสามารถของพ่อแม่


เด็กจะจัดการอารมณ์ได้ดีต้องเริ่มจากพ่อแม่ที่จัดการอารมณ์เป็น พ่อแม่ที่สงบและมีสติจะดำเนินกระบวนการให้ลูกจัดการกับอารมณ์ได้อย่างมีสติด้วย ไม่มีเด็กคนไหนไม่เคยผิดพลาด ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาของเด็ก เพราะ เด็ก “ใหม่เหลือเกิน” กับโลกใบนี้ เค้าต้องลอง และเรียนรู้กับสิ่งที่ทำไปโดยมีพ่อแม่ที่เข้าใจ เมตตา และใช้ความรักเจาะลงในหัวใจของลูกด้วยคำพูดเชิงบวก ไม่คาดคั้นกัน ไม่ตัดสินกันก่อนที่จะฟังเรื่องราวและความรู้สึกของลูก


ถ้าไม่ฟังลูก ไม่เชื่อใจลูก ก็ยากที่ลูกจะเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง

เพราะที่ผ่านมา เขาเรียนรู้ว่าพูดไปพ่อแม่ก็ไม่ฟังเขา

การพูดของเขาจึงไม่มีประโยชน์

ดังนั้น ก็ไม่ต้องเล่าคงจะดีกว่า

และท่านจะไม่รู้เรื่องอะไรของลูกอีกเลย


“เมื่อมีใครในบ้านกำลังมีปัญหา ขอให้ฟังและคุยกันให้มากค่ะ”


ด้วยรักและปรารถนาดีจากใจ

ครูปุ๊ก Play Academy

ดู 17 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page