top of page

Knowledge

ร.ร.สาธิตไม่ใช่สูตรสำเร็จของชีวิต


สัปดาห์นี้ โรงเรียนสาธิตยอดนิยมในกรุงเทพฯได้ประกาศผลสอบคัดเลือกเด็กๆเพื่อเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล 3 และประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 3 แห่ง

.


เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีทั้งผู้สมหวังและผู้ผิดหวัง เพราะ พื้นที่มีจำกัดไม่สามารถรับทุกคนที่สมัครสอบเข้าเรียนได้ทั้งหมด อัตราการแข่งขันสูงมากราวๆ 1 ต่อ 30 คนทีเดียว

.


ใครที่ผิดหวังก็อย่าได้จมอยู่กับความเสียใจครั้งนี้นานจนเกินไป ครูเชื่อเสมอว่า “ทุกคนมีเส้นทางของตนเอง มีสิ่งที่เหมาะสมกับเรา และครอบครัวคือสถาบันแห่งชีวิตที่สำคัญกว่าโรงเรียน”

.


ด้วยอัตราการแข่งขันที่สูงมาก พ่อแม่จำนวนมากจึงทุ่มเทเงินทอง เวลา และวิถีชีวิตไปกับการติวอย่างเข้มข้นอย่างน้อย 1 - 2 ปี หลายบ้านวางแผนตั้งแต่ตั้งครรภ์ว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียนสาธิตให้ได้

.


ชีวิตปฐมวัยของลูกที่มีอยู่เพียง 5 ปีนั้นเกือบ 50% หมดเวลาไปกับการเตรียมตัวสอบเข้าโรงเรียนสาธิต สอบไม่ได้ก็ผิดหวัง

.


หลายปีที่แล้ว ครูทราบว่าคุณแม่ท่านหนึ่งผิดหวังมากเมื่อไม่มีชื่อลูกที่บอร์ดถึงกับเดินออกจากบอร์ดไปโดยทิ้งลูกให้ยืนอยู่ตรงบอร์ดนั้น ลูกร้องไห้วิ่งตามแม่ เพราะ เสียใจที่ทำให้แม่ผิดหวังซึ่งแท้จริงแล้วการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตไม่ได้นั้นไม่ใช่ความผิดของลูกแม้แต่น้อย แต่เพราะความหวังที่สูง และการให้คุณค่าที่เกินพอดีของแม่ทำให้ใจหลุดลอยไปกับชื่อที่ไม่มีอยู่บนบอร์ด เด็กรู้สึกผิดที่ทำไม่ได้ รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอเรื่องนี้อาจส่งผลต่อการนับถือตนเอง (Self-esteem) ต่อไปในระยะยาว

.


วันนี้ ครูจะมาเล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าโรงเรียนสาธิตให้พ่อแม่ที่กำลังเตรียมลูกให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเตรียมความพร้อมลูกได้ถูกทาง ทุกท่านจะได้ทราบอย่างชัดเจนว่าแท้จริงแล้วโรงเรียนสาธิตต้องการเด็กแบบไหน

.


โรงเรียนสาธิตกำเนิดขึ้นจากคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อเป็นสถานที่ให้นิสิตนักศึกษาได้ฝึกสอน อาจารย์นิเทศก์การสอนได้สะดวก และยังเป็นสวัสดิการด้านการศึกษาให้แก่อาจารย์ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยให้ส่งบุตรหลานมาเรียนได้ในที่ทำงานของผู้ปกครอง

.


ในปีหนึ่งๆจึงเปิดรับจำนวนไม่มาก เมื่ออยู่ภายใต้การดูแลของคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์จึงมีความพร้อมด้านหลักสูตร วิธีการสอน และบุคลากรประกอบกับจำนวนเด็กที่น้อยทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีคุณภาพ สภาพสังคมดีและปลอดภัย นักเรียนสาธิตจึงมีความโดดเด่นทั้งด้านผลการเรียน ทักษะชีวิต ภาวะผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์

.


เมื่อผลผลิตขยายสู่วงกว้างจึงทำให้โรงเรียนสาธิตเป็นที่ใฝ่ฝันของพ่อแม่หลายครอบครัวส่งผลให้มีจำนวนผู้เข้าสอบเพิ่มมากขึ้นทุกปีเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปริมาณนักเรียนที่สมัครสอบกับปริมาณที่โรงเรียนรองรับได้จึงมีอัตราการแข่งขันสูงมาก และพ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งลูกติวอย่างเข้มข้น

.


จากหนังสือ “เข้า ป.1 เลือกโรงเรียน เลือกอนาคตของลูก” มีคำสัมภาษณ์ของ รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม ที่กล่าวถึงการเตรียมลูกเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิตไว้ว่า

.


“การส่งลูกไปติวไม่มีความจำเป็นสำหรับการสอบเข้าสาธิต เพราะ สาธิตส่วนใหญ่ไม่ได้สอบความรู้ อย่างสาธิตจุฬาฯ เราสอบความพร้อม ไม่ได้สอบความรู้ทางวิชาการ ซึ่งความพร้อมด้านต่างๆนั้นได้แก่ การฝึกกล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อตา แล้วก็ให้เขามีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า การฝึกให้ลูกมีสมาธิและช่างสังเกตก็เป็นการฝึกความพร้อมอย่างหนึ่ง เพราะการสอบต้องอาศัยความพร้อมและสมาธิของเด็กเป็นสำคัญ”

.


เมื่อที่นั่งมีจำกัด โรงเรียนสาธิตจึงคัดเลือกเด็กที่มีสติปัญญาดี หมายถึง คิดวิเคราะห์เป็น (Critical Thinking) ควบคุมตัวเองได้ (Self-Control) มีความจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า (Focus) เมื่อจดจ่อได้ สมาธิก็ตามมา เมื่อครูอ่านคำสั่งก็มีความจดจ่อที่จะฟังจับใจความได้ดีว่าคำถามคืออะไร คำสั่งบอกให้เราทำอะไร

.


แท้จริงแล้ว โรงเรียนสาธิตไม่ได้ออกข้อสอบที่ยากเกินความสามารถทางการคิดของเด็กอายุ 5 - 6 ปีแต่อย่างใด แต่เด็กที่จะสอบได้ต้องมีคุณลักษณะดังที่กล่าวมารวมถึงมีเชาวน์ มีความรู้รอบตัว เข้าใจข่าวเหตุการณ์สำคัญ และเป็นผู้ที่พลาดน้อยที่สุดใน 100 คนแรก นั่นคือ มีความรอบคอบ ยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจเลือกคำตอบนั่นเองค่ะ (เด็กหลายคนมีความสามารถทางการคิดดีแต่ไม่รอบคอบ)

.


มาถึงตรงนี้พอที่จะสรุปได้ว่า สิ่งที่พ่อแม่ต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิตนั้น ได้แก่


1. ทักษะเชาวน์ปัญญา และการคิดวิเคราะห์


2. ความพร้อมทางอารมณ์ การปรับตัว


3. ความจดจ่อ สมาธิ


4. การฟังจับใจความ

.


ครูไม่อยากให้พ่อแม่ตื่นตระหนกมากเกินไปจนชีวิตของท่านและลูกไม่สบายใจ เพราะ มีแต่การติวเพื่อเตรียมสอบ การติวอย่างเข้มข้นไม่ได้หมายความว่าเด็กจะพร้อมสอบติดเสมอไป

.


ในทางกลับกัน สภาพจิตใจของเด็กแต่ละคนรับต่อความเครียด ความกดดัน และความคาดหวังไม่เท่ากันซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กต่อไปได้

.


เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ช่วงปฐมวัยเพียงไม่กี่ปีของเด็กจะหมดลงไปกับการติวเข้ม อย่าลืมนะคะว่าชีวิตไม่ได้มีแต่การเรียน ปฐมวัยแห่งชีวิตเป็นวัยที่พ่อแม่ควรวางรากฐานสำคัญหรือคุณลักษณะที่ลูกต้องใช้ไปตลอดชีวิต เด็กควรได้เรียนรู้ที่หลากหลาย ได้วิ่งเล่น พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาทักษะทางสังคม การสื่อสาร จริยธรรม วินัย การบ่มเพาะตัวตนที่แข็งแกร่ง และมีความสุขกับครอบครัว

.


การติวเพื่อเตรียมตัวสอบไม่ใช่เรื่องผิดแต่ควรแบ่งเวลาให้สมดุลกับการใช้ชีวิตส่วนอื่นด้วย

.


ครูขอแสดงความยินดีกับทุกครอบครัวที่ลูกได้รับคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิต ส่วนครอบครัวที่ผิดหวังอย่าได้จมอยู่กับความทุกข์นานเกินไป แผนสำรองที่วางไว้นั้นขอให้เลือกสิ่งที่เหมาะที่สุดให้กับลูก ลูกมีความสุขเสมอเมื่อได้รับการยืนยันจากพ่อแม่ว่า “ลูกเป็นสิ่งที่มีค่าทึ่สุดในชีวิตของพ่อแม่ พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวลูก และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พ่อกับแม่จะรักหนูตลอดไป”

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page