top of page

Knowledge

พ่อแม่ต้องมีอำนาจในการปกครองลูก


ที่คุณแม่บอกว่าครู "ดุ" เพราะครูเอารถบัสไม้ของเล่นที่เด็กชายวัย 2.5 ขวบ หยิบติดมือมาจากห้องโถงของโรงเรียนเข้ามาในห้องประเมินพัฒนาการโดยไม่ยอมปล่อย และไม่ทำอะไรเลยนอกจากเล่นรถบัสคันนี้ ครูได้พูดคุยแล้วว่าให้วางก่อน รถจะอยู่ตรงนี้ เมื่อเล่นของเล่นกับครูเสร็จจะได้เล่นรถบัสแน่ๆ

.


ครูดูแล้วว่าถ้ารถบัสนี้ไม่ออกไปจากมือเด็ก ครูจะไม่สามารถทำการประเมินพัฒนาการได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่พ่อแม่นัดเข้ามาในวันนี้ และคุณแม่ก็ไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมลูกได้

.


เมื่อเด็กเผลอหันไปสนใจของเล่นรายการอื่น และวางรถบัสลง ครูจึงใช้โอกาสนี้นำส่งรถบัสให้ครูนอกห้องนำไปเก็บไว้ที่เดิม

.


เด็กหันมาพบว่ารถบัสหายไปก็ร้องไห้งอแงจะเอารถคืนมา ครูพยายามเบี่ยงเบนความสนใจมาสู่กิจกรรมช้อนปลาสีที่เตรียมไว้ที่โต๊ะประเมิน เด็กยังคงร้องไห้จะเอารถกลับคืนมาให้ได้


ทันใดนั้น


คุณแม่เอ่ยปากขึ้นมาว่า


"หนูอยากออกไปข้างนอกเหรอ?"


พลางบอกลูกว่า


"ป่ะ เราออกไปข้างนอกกัน"


แล้วเปิดลูกบิดประตูเตรียมเดินออกไปโดยไม่หันมาพูดอะไรกับครูแม้แต่คำเดียว

.


ครูซึ่งนั่งอยูที่โต๊ะประเมินฯ รีบบอกคุณแม่ว่า


"คุณแม่ขา ไม่พาน้องออกไปนะคะ"


เพราะกว่าจะพาน้องเข้ามาในห้องได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังเอารถบัสติดมือเข้ามาจนไม่ยอมปล่อย ตอนนี้ครูพาน้องเข้ามาในห้องได้แล้ว และนำส่งรถบัสออกไปแล้ว ถ้าแม่ให้ความร่วมมือช่วยกันเบี่ยงเบนความสนใจมาสู่กิจกรรมที่ครูเตรียมไว้ทุกอย่างจะเริ่มเข้าที่

.


แม่หันกลับมาบอกด้วยน้ำเสียงตัดพ้อว่า


"คุณครูอย่าดุนักเลย ลูกเพิ่ง 2 ขวบเอง สงสารลูก"

แล้วแม่ก็พาลูกเดินออกไป

.


ครูบอกตามตรงว่าครูประเมินพัฒนาการเด็กมาเข้าสู่ปีที่ 12 ครูไม่เคยเจอพ่อแม่บ้านไหนที่เห็นแล้วว่าครูพยายามจะพาลูกของตนเองเข้าสู่กระบวนการแล้วจะฉีกขั้นตอนออกไปแบบนี้ ที่ผ่านมา พ่อแม่จะช่วยครูจับลูก ปลอบประโลม พูดคุยกับลูก และร่วมมือกับครูในการประเมินพัฒนาการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จนเสร็จสิ้นกระบวนการ

.


เมื่อคุณแม่เปิดประตูออกไปก็ตัดพ้อกับคุณพ่อที่ห้องโถงว่า


"คุณครูดุมากเลยอ่ะ"


พร้อมพาลูกไปเล่นรถบัสคันเดิม ครูยังคงอยู่ในห้อง รู้สึกเหนื่อยใจที่ต้องพบกับพ่อแม่แบบนี้แต่บอกตัวเองว่า "ฉันจะทำให้ดีที่สุด" ดีที่สุดในที่นี้หมายถึงต่อเวลาให้เค้า ให้เวลาเด็กได้ปรับตัว (ทั้งที่ทำตั้งแต่แรกเจอแล้ว) เมื่อคุยกับตัวเองเรียบร้อยจึงค่อยๆเดินออกไปดูครอบครัวนี้

.


พ่อแม่รุมปลอบประโลมลูก โอ๋พักใหญ่ ในเวลาต่อมา เด็กหิว พ่อแม่เจาะนมกล่องเล็กๆให้ลูกดื่ม ถือกล่องนมเดินตามลูกแล้วแต่ลูกนำทาง กล่องนมเล็กๆนั้น เด็กใช้เวลาดื่มร่วม 30 นาที

.


ระหว่างเด็กดื่มนม และงอแงไม่ยอมเข้าห้อง คุณพ่อเข้ามาคุยกับครู ครูได้บอกกับคุณพ่อไปตามความเป็นจริงว่าครูพยายามเบี่ยงเบนความสนใจเด็กจากรถบัสเพราะเห็นแล้วว่ารสบัสเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เด็กไม่ให้ความร่วมมือ การประเมินพัฒนาการเด็กนั้น เด็กต้องใช้สองมือในการลงมือปฏิบัติ ถ้าเด็กยังคงเล่นรถบัสโดยไม่สนใจฟังอะไรทั้งสิ้น และไม่ยอมทำอะไรนอกจากเล่นรถ แล้วพ่อแม่ก็จัดการลูกไม่ได้การประเมินจะดำเนินไปได้อย่างไร

.


สักพักเด็กสงบลง แม่พาเข้ามาในห้องพร้อมรถบัสในมือเหมือนเดิม ครูพยายามใจเย็น เด็กให้ความร่วมมือในการช้อนปลาสีที่ครูจัดมาให้ เริ่มวางรถบัสลง ครูส่งสัญญาณให้คุณแม่เก็บรถได้เลย คุณแม่บอกกลับมาว่า


"ถ้าเอาออก เค้าจะไม่ยอมทำอะไรเลยนะคะคุณครู"


ครูรู้แล้วว่า "ยาก" สำหรับครอบครัวนี้ที่จะเข้าใจเรื่องที่ควรทำในตอนนี้

.


ตลอดการประเมินเกือบ 1 ชั่วโมง พ่อแม่ประกบลูกตลอด เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ลุ่มๆดอนๆ กระท่อนกระแท่น เด็กใช้มือซ้ายจับรถบัสไว้ตลอดเวลา ใช้มือขวามือเดียวในการประเมินพัฒนาการ จาก 9 กิจกรรมทำไปได้เพียง 5 กิจกรรมที่เหลือเด็กไม่ให้ความร่วมมือจริงๆ และพ่อแม่ไม่มีการพูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่ลูกควรทำในเวลานี้แม้แต่น้อย

.


เมื่อสรุปผลการประเมินพัฒนาการ ทั้งสองท่านไม่สามารถนั่งฟังครูได้เหมือนพ่อแม่บ้านอื่นที่จดลงสมุดบันทึกหรือขออัดเสียงเพื่อเอาไปฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า และส่งต่อให้ปู่ย่าตายายฟังเพื่อเข้าใจพัฒนาการของบุตรหลานรวมถึงปรับวิธีการเลี้ยงดูให้ไปในทิศทางเดียวกัน ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคือคนนึงต้องจับลูกให้ลูกสงบ อีกคนก็พะว้าพะวงแทบไม่มีสมาธิในการฟัง

.


ครูสรุปให้ฟังสั้นๆว่า


"วินัยลูก สร้างได้ตั้งแต่ปลายขวบปีแรกให้ลูกรู้จักการรอคอย ถึงเวลากินต้องนั่งโต๊ะกินข้าว ทำกิจกรรมเดียวคือกิน ไม่เล่านิทานไปด้วยหรือเปิดหน้าจอให้ลูกดูการ์ตูนไปด้วย แม้แต่เดินตามป้อนไปทั่วบริเวณด้านใน และด้านนอกบ้าน เรื่องพวกนี้เป็นการฝึกให้ลูกควบคุมตัวเองผ่านกิจวัตรในชีวิตประจำวันตามวัยได้

.


พ่อแม่ต้องมีอำนาจในการปกครองลูก ให้ลูกรู้ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ในเวลานี้ ไม่ใช่ไหลตามลูกไปเรื่อยๆโดยไม่มีขอบเขต ลูกพาไปซ้ายก็ไป พาไปขวาก็ไป ปล่อยตามใจจนลูกเรียนรู้ว่าพ่อแม่จะยอม เมื่อได้คืบก็เอาศอก ไม่มีขอบเขตใดๆทั้งสิ้น"

.


ครูพูดตามความจริงที่พ่อแม่ควรตระหนักรู้ ไม่ใช่เยินยอ ปล่อยปละหรือไม่พูดเพราะกลัวพ่อแม่ไม่สมัครเรียนแต่คิดว่าในฐานะที่ทำงานด้านนี้ เค้ามาประเมินกับเรา เราต้อง report ตามความจริง จะสมัครเรียนหรือไม่สมัครเรียนนั้นไม่สำคัญเท่ากับเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว

.


สรุป ครอบครัวนี้ไม่ได้สมัครเรียนเพราะพ่อแม่ทำใจไม่ได้ที่จะให้ลูกต้องมาเผชิญกับครูที่จะไม่ยอมตามใจ และห่วงลูกชายวัย 2.5 ขวบว่าจะรับไหวหรือไม่กับสิ่งที่แม่ตีความหมายว่าแบบนี้คือดุเกินไป

.


ครูเล่าให้ทุกท่านฟังเรื่องนี้เพื่อให้เห็นถึงภาพของพ่อแม่ที่รักลูกมากแบบมีแต่ Relation แต่ไม่มี Rules หรือกฎระเบียบใดๆเข้ามา ซึ่งแท้จริงแล้ว ทั้ง Relation และ Rules ต้องเท่ากัน


เลี้ยงลูกโดยเน้นแต่ Relation อย่างเดียว ไม่มี Rules ผลลัพธ์คือลูกเอาแต่ใจ (Spoiled Child)


เลี้ยงลูกโดยเน้นแต่ Rules อย่างเดียว ไม่มี Relation ได้ลูกเก็บกด ซึมเศร้า รู้สึกชีวิตไม่มีอิสระ


เลี้ยงลูกโดยไม่สร้างทั้ง Relation และ Rules ได้เด็กเกเร ก้าวร้าว ทำความเดือดร้อนให้ตัวเอง ครอบครัว และสังคม

.


ต่อให้มีเงินมากแค่ไหนแต่ไม่เข้าใจปัจจัยหลักในการปรับพฤติกรรมลูก ลูกจะไม่ได้รับการพัฒนาไปได้ไกลทั้งที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นอีกมากมายซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page