top of page

Knowledge

ก่อนที่เด็กคนนึงจะเขียนหนังสือได้



ครูเขียนบทความนี้ขี้นมาเพราะพบว่าพ่อแม่หลายท่านมีความเป็นห่วงลูกวัยอนุบาลที่เขียนหนังสือได้ไม่ดีเท่าที่พ่อแม่พอใจ


"เขียนตัวให้ตรงสิลูก ให้อยู่ในบรรทัด"

"ตัวหนังสือขี้เหร่มาก แบบนี้แม่อายเค้า"


"ครูปุ๊ก ลูกชายอยู่อนุบาล 3 แล้วนะคะแต่เค้าขี้เกียจเขียนหนังสือ"


ครูอยากบอกกับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้บริหารโรงเรียนระดับอนุบาลทั่วประเทศว่า


"วัยอนุบาลไม่ใช่วัยที่ให้เด็กมานั่งเขียนหนังสือหรือประโยคไม่ว่าสั้นหรือยาวก็ตามแต่เป็นวัยที่ต้องส่งเสริมให้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ทักษะการใช้มือและนิ้วมือทำงานตามพัฒนาการของวัยเพื่อเป็นรากฐานของการเขียน และทักษะการช่วยเหลือตัวเองในระยะยาวต่อไป"


ก่อนที่เด็กคนนึงจะเขียนหนังสือได้นั้นมีลำดับขั้นของพัฒนาการดังต่อไปนี้


(1) เด็กต้องได้รับการเตรียมกล้ามเนื้อมัดเล็ก (ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้ว) จากการใช้กล้ามเนื้อแบบหยาบไปสู่การใช้กล้ามเนื้อที่ละเอียดประณีตมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น กำ-แบบมือได้คล่องแคล่ว หยิบจับวัตถุให้เต็มอุ้งมือ ใช้ฝ่ามือตีหรือทุบแป้งโดว์ / ดินน้ำมัน / ดินเหนียวให้แบนได้ ดีงกระดาษ ขยำกระดาษ ร้อยเชือก ใช้กรรไกรตัดอิสระ เป็นต้น


พ่อแม่ ครูและหลักสูตรในโรงเรียนจึงควรเตรียมกล้ามเนื้อมัดเล็กให้เด็กจากการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เล่นอิสระ งานศิลปะ งานประดิษฐ์ สิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กทำงานได้ดีมากคือการให้เด็กช่วยเหลือตัวเองตามวัย


(2) การจับดินสอไซส์ปกติ (Regular Size) ที่ใช้กันทั่วไปนั้น เด็กใช้การจับแบบ Pinch เป็นหลัก คือ ใช้นิ้วโป้งบรรจบกับนิ้วชี้โดยมีนิ้วกลางประคอง การใช้กล้ามเนื้อแบบ Pinch เป็นการใช้กล้ามเนื้อแบบละเอียด ก่อนที่เด็กจะ Pinch ได้ เด็กต้องรูดซิป ติดกระดุม จับช้อนกินข้าว ฉีกกระดาษว่าวให้ได้ก่อน การที่เด็กไม่ได้รับการเตรียมกล้ามเนื้อมาเป็นลำดับขั้นทำให้เด็กจับดินสอยากลำบาก เมื่อยล้าจากการเขียนได้ง่าย และมีทัศนคติที่ไม่ดีกับการเขียนในระยะยาว


ขอแนะนำว่าในช่วง 1 เทอมแรกของการฝึกเขียนควรใช้ดินสอไซส์ใหญ่ (Jumbo Size) เพื่อให้เด็กจับได้ถนัดมือ มีลายเส้นที่ใหญ่ เส้นไม่เปราะหักง่าย และทำให้เด็กมีความมั่นใจในการเขียน สีเมจิกหรือปากไวท์บอร์ดแท่งใหญ่เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ใช้ฝึกการลากเส้นของเด็กได้ดี (ควรเลือกที่ Non-Toxic เพื่อหลีกเลี่ยงกลิ่นที่แรงและสารเคมีที่เด็กสูดดมเข้าไป)


(3) เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อมัดเล็กและการจัดระบบระเบียบร่างกายส่วนบนตั้งแต่ศีรษะ ไหล่ แขน และเอวให้เด็กอนุบาลไปสู่การเขียนต่อไป สามารถเริ่มได้จากการใช้พู่กันขนาดใหญ่จุ่มสีน้ำในขวดแก้วแยมแล้วปาดซ้ายขวาไปมาบนกระดาษขนาดใหญ่ เมื่อเด็กจับพู่กันได้มั่นคงแล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นสีเทียนแท่งใหญ่ และตามมาด้วยสีไม้แท่งใหญ่


เด็กจะนั่งทำงานที่โต๊ะก่อนการเขียนหนังสือ ได้พัฒนามือและตาให้ทำงานสัมพันธ์กัน และฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างมีลำดับขั้นทำให้การเขียนไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากเมื่อถึงวัยที่ต้องเขียน


(4) ภาพด้านล่างคือเส้นพื้นฐานระดับปฐมวัยที่เด็กพัฒนาการเป็นปกติสามารถทำได้


- เด็กอายุ 2 ขวบ ลากเส้นตรงจากบนลงล่างได้

- เด็กอายุ 2.6 ขวบ ลากเส้นตรงจากซ้ายไปขวาหรือขวามาซ้ายได้


- เด็กอายุ 3 ขวบ วาดวงกลมโดยให้ปลายจากจุดเริ่มต้นมาบรรจบกับจุดสิ้นสุดได้

- เด็กอายุ 3.6 - 4 ขวบ วาดเครื่องหมายบวกได้


- เด็กอายุ 4 ขวบ วาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้


- เด็กอายุ 4.6 ขวบ วาดเส้นเฉียงซ้าย - ขวาได้

- เด็กอายุ 4.11 ขวบ (เกือบ 5 ขวบ ประมาณอนุบาล 2) วาดกากบาทได้


- เด็กอายุ 5.3 ขวบ วาดสามเหลี่ยมได้


จะเห็นว่าพัฒนาการของทุกเส้นที่ก้าวหน้าขึ้นมีรากฐานมาจากเส้นที่เด็กเขียนได้ก่อนหน้านี้ อย่าคาดหวังให้เด็ก 3 ขวบเขียน x (เครื่องหมายกากบาท) ได้ เพราะก่อนจะเป็น X เด็กต้องลากเส้นตรงจากบนลงล่างให้ได้ก่อนแล้วจึงเป็นเส้นตรงจากซ้ายมาขวา เส้นเฉียงแล้วจึงเป็นกากบาท


(5) พ่อแม่ และครูไม่ควรเร่งรัดให้เด็กเขียนเกินวัย และเมื่อเด็กตั้งใจทำควรชมเชยถึงความพยายามและความสามารถที่มากขึ้นในทุกวัน


ได้โปรดอย่าเร่งให้เด็กวัยอนุบาลเขียนตัวหนังสือยากๆหรือประโยคยาวๆเพราะคิดว่าเป็นการวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กหรือเป็นตัวบ่งชี้ว่าเด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้สูง ฉลาด เก่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เด็กจะเขียนได้ดีเมื่อร่างกายพร้อม ใจพร้อม การเตรียมกล้ามเนื้อเด็กตามลำดับขั้นทำให้เด็กมีความสามารถในการเขียนที่ดีในระยะยาว และวัยที่จะเริ่มต้นเขียนตัวหนังสือจริงจังคือวัย 6 ขวบขึ้นไปซึ่งอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1


ในแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการสำคัญที่พ่อแม่และครูต้องทำ ไม่ควรนำสิ่งที่ข้ามขั้นตอนหรือไม่สำคัญในช่วงเวลานั้นมาเบียดพื้นที่ของสิ่งที่ต้องทำเพราะหลายครั้งที่เด็กไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำตามวัย เด็กก็พัฒนาไปอย่างไม่เป็นลำดับขั้น ไม่สมบูรณ์ และไปติดแหงกหรือ Burnout กับกิจกรรมที่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำแต่ไม่ทำหรือรู้สึกยากลำบากเหลือเกินเพราะที่ผ่านมาถูกเร่งรัดให้ทำจนเหนื่อยล้าเต็มทนแล้ว

❤️ ด้วยรัก ห่วงใย และปรารถนาดีจากใจ ❤️

ครูปุ๊ก Play Academy


ที่มาของภาพ : Liz, Pre-Writing Skill : Essential for Early Learners. April 19,2015 (www.liz-learning-spot.com)

ดู 2,485 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page