พ่อแม่หลายคนอาจเคยพบข้อความผ่านสื่อว่า “3 ปีแรกคือโอกาสทองของชีวิตลูก” บางท่านเมื่อพบข้อความเหล่านี้ก็อ่านรายละเอียดด้วยความตั้งใจอย่างครบถ้วน บางท่านก็อ่านผ่านๆแต่พอจะจับใจความได้ว่า 3 ปีแรกของลูกนั้นสำคัญเพราะเป็นรากฐานของชีวิตไปทั้งชีวิต ในฐานะที่ครูปุ๊กได้ลงมือทำงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยมาหลายปี และศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสมองต่อพัฒนาการ อารมณ์ และพฤติกรรมเด็กจึงอยากบอกกับพ่อแม่ว่า
“3 ปีแรกของลูกเป็นโอกาสล้ำค่าของชีวิตอย่างแท้จริง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา สามปีแรกจึงเป็นรากฐานชีวิตของเด็กคนหนึ่งไปตลอดชีวิต สำคัญที่สุดคือเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแล้วไม่สามารถหวนคืนกลับมาซ่อมแซมส่วนที่ละเลยไปได้ เด็กทุกคนต่างเดินทางมาสู่ปีที่ 3 ของชีวิตได้แต่ระหว่างทางเขาได้รับโอกาสในการพัฒนาที่ไม่เหมือนกัน”
ในบทความนี้ ครูปุ๊กได้รวบรวมประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโอกาสอันล้ำค่าทั้งด้านสมองและพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสามขวบให้พ่อแม่ได้เข้าใจเพื่อนำไปใช้เลี้ยงดูส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีและมีสมองที่มีคุณภาพพร้อมที่จะเติบโตไปตามศักยภาพของเขาต่อไป
เพราะอะไร? ช่วงเวลาตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบจึงเป็นโอกาสเพชร (เลอค่ายิ่งกว่าทอง) ของชีวิตลูก
1. เส้นใยประสาทในสมองมีความพร้อมที่จะได้รับการกระตุ้นเพื่อแตกแขนงและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายให้มากที่สุด
โดยเป็นการทำงานที่ต่อยอดจากเส้นใยประสาทที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาโดยใยประสาทเหล่านี้เกิดจากการทำงานของระบบประสาทการได้ยิน (Hearing) การมองเห็น (Vision) และการสัมผัส (Touch)
ยิ่งเส้นใยประสาทแตกแขนงและเชื่อมโยงกันมากเท่าใดความสามารถในการเรียนรู้ของลูกก็จะตามมา
เส้นใยประสาทจะแตกแขนงและเชื่อมโยงกันได้มากจากการที่เด็กได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างสม่ำเสมอ
2. เมื่อเด็กอายุครบ 3 ขวบจะมีน้ำหนักสมองเท่ากับ 90% ของผู้ใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว
สมองผู้ใหญ่มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1,300 - 1,500 กรัม
เมื่อแรกเกิด เด็กจะมีน้ำหนักสมองเฉลี่ยอยู่ที่ 350 - 500 กรัม และเมื่ออายุครบ 3 ขวบจะมีน้ำหนักสมองเฉลี่ยอยู่ที่ 1,100 กรัมซึ่งเทียบเท่ากับร้อยละ 90 ของสมองผู้ใหญ่
ดังนั้น ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ สมองจึงมีสัดส่วนการเจริญเติบโตที่มากที่สุดในชีวิต พ่อแม่จึงควรให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ
3. สมองของเด็กในช่วง 3 ขวบปีแรกจะมีการเชื่อมโยงเซลล์สมองประมาณ 1,000 ล้านล้านเซลล์หรือเรียกได้ว่า มีความไวต่อสิ่งต่างๆมากกว่าผู้ใหญ่ ถึง 2 เท่าเพื่อให้เด็กสะสมทักษะต่างๆและได้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวให้มากเพื่อเป็นรากฐานของชีวิตต่อไป
4. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็กซึ่งเป็นฐานกายมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นเพื่อเอื้อต่อการดำเนินชีวิตของเด็กได้ด้วยตนเอง
กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ กระดูกแกนกลาง แขน ขา
ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กคือการทำงานตั้งแต่ข้อมือจนถึงปลายนิ้ว
สามปีแรกของชีวิต พัฒนาการด้านร่างกายจะมีมากพอให้เด็กช่วยเหลือตัวเองง่ายๆได้ แต่ถ้าอวัยวะต่างๆไม่ได้รับการฝึกฝนตามวัย เด็กจะขาดทักษะและความชำนาญในการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นทำให้เด็กช่วยเหลือหรือพึ่งพาตัวเองไม่ได้ตามวัย
5. ช่วงขวบปีแรกเป็นปีแห่งความไว้วางใจ (Trust) โลกใบนี้ จิตใจเด็กต้องการความปลอดภัย ต้องการความรักและรับรู้ได้ว่าตนเองมีคนที่พึ่งได้ หากขวบปีแรกเด็กไม่ได้รับการตอบสนองที่มากพอ เช่น ปล่อยให้ร้องนานๆ ละเลยเพิกเฉยในการดูแลเรื่องจิตใจ (คนรอบข้างไม่เล่นด้วย ไม่พูดคุยด้วยหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆด้วย) เลี้ยงดูแต่กายแต่ไม่สนใจเรื่องจิตใจเด็กจะไม่ไว้วางใจ (Distrust) โลกใบนี้ ไม่มีความสุข ส่งผลให้เป็นคนวิตกกังวล ปรับตัวยากในช่วงวัยถัดไป อาจสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ยากซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทักษะทางสังคม
6. ถ้าพัฒนาการล่าช้าหรือผิดปกติแสดงว่าสมองส่วนที่ควบคุมหน้าที่ของร่างกายนั้นๆทำงานผิดปกติ หากพ่อแม่รู้เร็วจะสามารถช่วยเหลือเด็กได้ดี ใช้เวลาน้อยกว่าการรักษาเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น
7. ขวบปีแรกเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้เสียงต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมองจะมีการจัดกลุ่มแยกเสียงต่างๆที่รับรู้มาไว้ในคลังความจำทั้งหมด ถ้าเด็กมีพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่พูดเก่ง เด็กจะได้เรียนรู้เสียงหลายเสียง มีคำศัพท์มาก และเมื่ออวัยวะเกี่ยวกับการพูดพร้อมที่จะทำงาน เด็กจะดึงเสียงต่างๆที่เคยได้ยินมานำมาใช้สื่อสารต่อไป การเรียนรู้ภาษาต่างๆจึงเป็นไปได้ง่ายเมื่อเทียบกับเด็กที่สมองไม่ค่อยได้รับรู้เสียงที่หลากหลาย
8. เมื่อเด็กอายุ 1 ขวบปลายๆจะสามารถเรียนรู้คำสั่งหรือข้อมูลง่ายๆได้ดีนำไปสู่การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูสามารถสอนความรู้รอบตัวอย่างสมวัยให้เด็กได้รวมถึงปลูกฝังวินัยพื้นฐานตามวัยที่เด็กควรปฏิบัติ เช่น นอน ตื่น กิน ขับถ่ายให้เป็นเวลา เก็บของเล่นทุกครั้งเมื่อเล่นเสร็จ ยกมือไหว้สวัสดีผู้ใหญ่ ยิ่งฝึกวินัยเด็กตั้งแต่เล็กเท่าไหร่ได้ยิ่งดีเพื่อบ่มเพาะให้ลักษณะนิสัยที่ดีหยั่งรากลึกลงในตัวเด็กตั้งแต่แรก พ่อแม่จะไม่ต้องเหนื่อยใจไปอีกหลายปี
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างรากฐานให้แก่ชีวิตทั้งชีวิตอย่างแท้จริง และธรรมชาติก็เอื้อให้สิ่งสำคัญอย่างสมอง กล้ามเนื้อ อารมณ์ จิตใจ และลักษณะนิสัยที่ดีได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่วัยนี้ ขอให้พ่อแม่เชื่อมั่นว่า ธรรมชาติได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่มนุษย์แล้ว การเข้าใจธรรมชาติการทำงานของสมองและพัฒนาการทำให้เราเลี้ยงลูกไปตามครรลองของแต่ละช่วงวัย รู้ว่าวัยใดควรให้ความสำคัญเรื่องอะไร ไม่เร่งลูกให้ทำสิ่งที่เกินไปหรือคาดหวังให้ลูกเป็นไปตามที่ใจปรารถนาทุกประการ
ถ้า 3 ปีแรกของลูกดีปีต่อๆไปก็ไม่ต้องเสียเวลาซ่อมส่วนที่สามปีแรกขาดไป
“Good thing take time : สิ่งดีๆใช้เวลาในการก่อเกิด”
“Good thing come to those who wait : สิ่งดีๆจะมาถึงผู้ที่รอเป็น”
ด้วยรักจากใจ
ครูปุ๊ก Play Academy
#ผู้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่และเชื่อเรื่องการพัฒนาเด็กตามธรรมชาติการทำงานของสมองและพัฒนาการตามวัย
Comments