“ขอให้รับฟังสิ่งต่างๆที่ลูกอยากบอกคุณ
เพราะถ้าคุณไม่ฟังแม้แต่เรื่องเล็กๆของเขา
เขาก็จะไม่เล่าเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ให้คุณฟังอีกต่อไป”
=ถอดความจากงานของ Catherine M. Wallace=
.
ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเริ่มตั้งแต่การรับฟังกันด้วยหัวใจหรือใช้ใจฟังไม่ใช่ใช้หูฟังเพียงอย่างเดียว
.
เด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาหาพ่อแม่ด้วยความตั้งใจที่อยากจะบอกอะไรบางอย่างกับเราเสมอ
.
“แม่ วันนี้หนูเขียนตามคำบอกถูกหมดเลย”
👉 เขาหวังว่าเราจะดีใจไปพร้อมๆกับเขาเมื่อเขารู้ว่าทำอะไรได้ดี
.
“แม่ แม่ปุ๊กครับ พรุ่งนี้พ่อแป๋งจะพาปัญญ์ไปซื้อกันดั้มตัวใหม่”
👉 เขาหวังว่าเราจะตื่นเต้นไปพร้อมๆกันเขาเมื่อเขาได้รับสิ่งที่อยากได้
.
“พ่อขา หนูไม่อยากไปเรียนติวแล้ว มันไม่สนุกและยากมากเลย”
👉 เขาหวังว่าเราจะเข้าใจในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ
.
“แม่คะ ข้าวปั้นชอบล้อเลียนชื่อหนู และเขาบอกกับเพื่อนว่าห้ามเล่นกับหนู”
👉 เขาหวังว่าเราจะเป็นที่พึ่งและช่วยเหลือเขาได้ในยามที่เขาไม่สบายใจแบบนี้
.
เด็กกลั่นกรองอารมณ์และความรู้สึกที่อยู่ในใจออกมาเป็นคำพูดด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการคนที่รับฟัง เข้าใจ และรู้สึกร่วมไปกับเขา
.
การตอบสนองและรับฟังด้วยความใส่ใจของผู้ใหญ่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขามีคุณค่า มีความหมาย และเป็นที่รักของคนรอบข้าง นี่คือจุดเริ่มต้นของ Self-Esteem หรือการเห็นคุณค่าในตัวเอง
.
การฟังที่ทรงอานุภาพที่สุดคือการฟังด้วยหัวใจ
.
การฟังด้วยหัวใจ คือ การฟังที่มุ่งเน้นที่อารมณ์ ความรู้สึก และรู้ถึงความต้องการที่ผู้พูดอยากบอกเรา ไม่ใช่ฟังเพียงคำพูดแล้วคิดภาพเป็นตัวอักษรหรือตีความตามตัวอักษร / คำพูดมากกว่าการมุ่งเน้นไปที่จิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของผู้สื่อสาร
.
📍การฟังด้วยหัวใจสามารถแสดงออกได้ดังต่อไปนี้
(1) วางทุกอย่างลงแล้วฟังลูกอย่างเดียว
วางงาน วางเครื่องมือสื่อสารทุกอย่างแล้วตั้งใจฟังลูกอย่างเดียว แสดงให้เขาเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับเขาแล้วเขาจะรู้สึกอุ่นใจ ไว้วางใจ กล้าเล่าเรื่องราวต่างๆให้พ่อแม่ฟัง
(2) มองตาลูก
เวลาพูดกับลูกให้มองหน้า - มองตาลูก ไม่เบือนหน้าหนีแม้จะเป็นเรื่องที่พ่อแม่รู้สึกว่าผิดหวังหรือเสียใจก็ตาม การมองตามีพลังแสดงถึงความใส่ใจ การรับฟัง และพยายามที่จะเข้าใจเขา
(3) ตอบสนองทางกาย
พยักหน้าเป็นระยะ แสดงถึงว่าแม่รับฟังอยู่ แม่เข้าใจ
ตอบรับเป็นระยะ เช่น “จ้ะ” “แม่ฟังอยู่ลูก” “แม่คิดภาพตามที่หนูเล่าอยู่” แสดงถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกเล่า
(4) สะท้อนความรู้สึก
“หนูคงอายและโกรธที่เพื่อนล้อหนูแบบนี้ เป็นแม่ตอนอายุเท่าหนู แม่ก็คงโกรธเหมือนกัน”
“หนูกังวลใจว่าหนูจะทำข้อสอบวันพรุ่งนี้ไม่ได้”
“หนูเหนื่อยมากแล้วที่ต้องเรียนพิเศษเยอะขนาดนี้”
การสะท้อนความรู้สึกทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจเขา
(5) ไม่ต่อว่า ด่าทอ ตำหนิ
ไม่มีเด็กคนไหนไม่เคยทำผิด ไม่มีเด็กคนไหนปฏิบัติตัวได้เหมาะสมทุกสถานการณ์ หลายครั้งที่เด็กรู้ว่าสิ่งที่เด็กทำนั้น “ไม่ถูกต้องในสายตาผู้ใหญ่” “ถ้าแม่รู้ต้องถูกว่ากล่าวหรือทำโทษแน่” แต่เด็กก็กล้าหาญพอที่จะเล่าความจริงกับพ่อแม่
พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ และใช้คำถามกลับไปถึงสาเหตุของการกระทำนั้นมากกว่าการต่อว่าหรือด่าทอ
.
ทุกคำพูดของเด็กมีความหมายแฝงอยู่ เด็กต้องการบอกอะไรเราบางอย่าง พ่อแม่จึงควรรับฟังสิ่งต่างๆที่ลูกอยากบอกคุณ แม้มันจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เพราะถ้าคุณไม่ฟังแม้แต่เรื่องเล็กๆของเขา เขาก็จะไม่เล่าเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ให้คุณฟังอีกต่อไป
.
และครูเชื่อว่าคุณคงไม่อยากเป็นพ่อแม่ที่ลูกไม่เล่าอะไรให้ฟัง
Comments