เมื่อลูกเริ่มเดินได้ การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งก็เริ่มตามมา ผู้เลี้ยงดูต้องคอยเฝ้าติดตามดูระวังอันตรายตลอดเวลา หลายคนถึงขั้นเอ่ยปากว่า “ซนมากกก เหนื่อยมาก ทำงานที่ว่าเหนื่อยมากทั้งชีวิตยังไม่เท่าเลี้ยงลูกคนเดียว”
ซน หมายถึง อาการของเด็กที่ไม่อยู่นิ่ง เล่นโน่นเล่นนี่จนทำให้เดือดร้อนเสียหาย
เด็กแต่ละคนซนมากซนน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับพลังงานที่มีอยู่ในตัวและการทำงานของสมองของเด็กแต่ละคน
เป็นเรื่องปกติที่เด็กต้องซนด้วย 3 เหตุผล ดังต่อไปนี้
1. สมองสั่งให้เด็กมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า แขน ขา การใช้มือต้องทำงานให้มาก สมองจึงผลักดันให้เด็กเคลื่อนไหวเยอะ เด็กจึงอยู่ไม่นิ่ง
2. ประสบการณ์ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ เด็กเคลื่อนไหวมาก ลงมือทำมาก มีสิ่งเร้ารอบตัวมากระทบประสาทสัมผัสทั้งห้ามากทำให้ “เด็กเรียนรู้” มาก และการเรียนรู้นี้เองที่จะเป็นฐานในการใช้ชีวิตในช่วงวัยต่อๆไป
3. หน้าที่สำคัญที่สุดของสมองคือการรักษาชีวิตหรือเอาตัวรอด ปฐมวัยแห่งชีวิต (แรกเกิดถึง 8 ขวบ) จึงเป็นวัยสั่งสมประสบการณ์ เด็กต้องรู้จักสิ่งรอบตัวให้มากเพื่อให้ตัดสินใจได้ว่า “ควรทำ” หรือ “ไม่ควรทำ” / “ปลอดภัย” หรือ “ไม่ปลอดภัย” หากขาดประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้ลองลงมือทำก็เท่ากับว่าขาดทักษะชีวิตในหลายเรื่อง
“เด็กซน” เป็นเรื่องปกติ
เด็กไม่ซนน่าเป็นห่วง (เรื่องพัฒนาการ)
ถ้าพ่อแม่กังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยจากความซนของลูก สามารถกำหนดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยในบ้านได้ เช่น มีอุปกรณ์อุดปลั๊กไฟ แผ่นกันกระแทกในจุดที่อันตราย ไม่มีเฟอร์นิเจอร์สูงให้ปีนป่ายหรือกระโดดลงจากที่สูงได้ เป็นต้น แต่ต้องไม่ใช่การห้ามลูกสารพัดจนเด็กได้อิสระทางความคิดและการเคลื่อนไหวที่น้อยมากจนเด็กอัดอั้นและแทบไม่มีประสบการณ์ชีวิต
เอารูปมาอวดพร้อมเรื่องเล่าความซนของลูกกันหน่อยนะคะ
❤️ ด้วยรักจากใจ ❤️
ครูปุ๊ก Play Academy
ภาพประกอบจาก drselfesteem.blogspot.com
Comentários