จำนวนและตัวเลขสำหรับเด็ก 3 ถึง 6 ขวบ
จำนวนและตัวเลขเป็นความรู้พื้นฐานตามวัยที่เด็กอนุบาล (ช่วงอายุ 3 – 6 ขวบ) สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้ จำนวนและตัวเลขไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเรียนคณิตศาสตร์แต่เชื่อมโยงกับทักษะชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

☄️ อนุบาล 1 (ช่วงอายุ 3 – 4 ขวบ)
สามารถเรียนรู้จำนวนและตัวเลข 1 – 5 ได้
☄️ อนุบาล 2 (ช่วงอายุ 4 – 5 ขวบ)
สามารถเรียนรู้จำนวนและตัวเลข 1 – 10 ได้
☄️ อนุบาล 3 (ช่วงอายุ 5 – 6 ขวบ)
สามารถเรียนรู้จำนวนและตัวเลข 1 – 20 ได้
เด็กวัยอนุบาลจำนวนมากไม่ค่อยชอบหรือหลีกเลี่ยงการเรียนเรื่องจำนวนและตัวเลข เพราะ รู้สึกว่ายาก จำไม่ได้ เด็กบางคนถึงขั้นไม่ตอบคำถามเรื่องจำนวนหรือตัวเลข บางคนลุกขึ้นจากโต๊ะเดินหนึไปเลย นี่คือจุดเริ่มต้นของความรู้สึกหรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ในหัวข้อนี้ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กต่อไป
จากพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กวัย 3 – 6 ขวบ สามารถทำความเข้าใจเรื่องจำนวนและตัวเลขได้ดังต่อไปนี้
☄️ อนุบาล 1 (ช่วงอายุ 3 – 4 ขวบ) สามารถเรียนรู้จำนวนและตัวเลข 1 – 5 ได้
☄️ อนุบาล 2 (ช่วงอายุ 4 – 5 ขวบ) สามารถเรียนรู้จำนวนและตัวเลข 1 – 10 ได้
☄️ อนุบาล 3 (ช่วงอายุ 5 – 6 ขวบ) สามารถเรียนรู้จำนวนและตัวเลข 1 – 20 ได้
สิ่งที่ควรสอนเด็กวัยอนุบาลเรื่องจำนวนและตัวเลข
(1) การนับจำนวนอย่างเป็นระบบ
เป็นการนับจำนวนแบบมีทิศทาง เช่น นับจากซ้ายมาขวา / ขวามาซ้าย, นับจากบนลงล่าง / ล่างขึ้นบน เป็นต้น เพื่อนับได้อย่างครบถ้วน แม่นยำ เที่ยงตรง นับไม่ขาด – ไม่เกิน ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการทำงานง่ายๆอย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักการจัดการข้อมูลที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างครบถ้วน
เด็กหลายคนนับจำนวนแบบสะเปะสะปะ ไม่มีทิศทาง ปากท่องตัวเลขไปไวกว่านิ้ว ใจร้อน ทำให้จำนวนที่นับได้ไม่ถูกต้อง ขาดหรือเกิน ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจให้เรื่องนี้เด็กก็จะติดนิสัยทำอะไรลวกๆ ไม่ละเอียดรอบคอบ การฝึกให้เด็กนับจำนวนอย่างเป็นระบบจึงช่วยให้เด็กทำงานอย่างรอบคอบ และมีสมาธิดี
(2) การแทนค่าจำนวน
เด็กจำนวนมากถูกสอนให้ท่องปากเปล่าจาก 1 – 20 / 1 – 50 / 1 -100 แต่ไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่ตัวเองช่อง เช่น ท่องออกมาว่า 18 แต่ไม่เข้าใจว่าค่าของ 18 เป็นอย่างไร?
เมื่อสอนจำนวนและตัวเลขให้กับเด็กจึงต้องให้เด็กแทนค่าจำนวนได้อย่างเข้าใจ เช่น ครูให้หยิบไข่มาใส่ตะกร้า 5 ฟอง เด็กต้องหยิบไข่มาใส่ตะกร้าได้ครบ 5 ฟอง เป็นต้น
ไม่มีประโยชน์ที่เด็กท่อง 1 – 100 โดยไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่ตัวเองท่อง
(3) การใช้สัญลักษณ์ตัวเลขแทนจำนวน
“ตัวเลข” เป็นสัญลักษณ์แทนจำนวน
วิธีสอนให้เด็กจดจำตัวเลขได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การสอนตัวเลขควบคู่กับการแทนค่าจำนวนหรือจำนวนกับตัวเลขต้องอยู่เคียงคู่กันเสมอ
เด็กวัยอนุบาลไม่จำเป็นต้องเขียนตัวเลขได้แต่ควรจำตัวเลขได้ตามพัฒนาการ
(4) การสรุปจำนวน
การสรุปจำนวน หมายถึง เมื่อนับคน สัตว์ หรือสิ่งของได้ทั้งหมดเท่าไหร่ก็พูดเป็นจำนวนนั้นออกมา
ในช่วงแรกของการเรียนเรื่องจำนวนและตัวเลข เด็กจะนับจำนวนได้แต่สรุปจำนวนไม่ได้ เช่น นับไข่ไก่ที่มีอยู่ในตะกร้าจำนวน 10 ฟอง เด็กใช้นิ้วไล่จากซ้ายมาขวาโดยนับ 1 – 10 เมื่อครูถามว่ามีไข่ไก่ทั้งหมดกี่ฟองคะ? เด็กตอบว่า 3 ฟอง พร้อมชูนิ้ว 5 นิ้ว แบบนี้คือเด็กที่นับเลขเป็นระบบแต่สรุปจำนวนไม่ได้
ทั้ง 4 ประเด็นข้างต้นนี้คือขอบเขตในการสอนเรื่องจำนวนและตัวเลขให้แก่เด็กวัยอนุบาลเพื่อเป็นพื้นฐานคณิตศาสตร์และทักษะชีวิตต่อไป
ครูมีคำแนะนำให้กับพ่อแม่เพื่อสอนเรื่องจำนวนและตัวเลขให้ลูกเกิดความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ในหัวข้อนี้ ดังต่อไปนี้
– ให้ลูกได้ลงมือทำกิจกรรมกับตัวเลข
ไม่ใช่เพียงให้ดูและฟัง เพราะเด็กวัยนี้เรียนรู้ได้ดีจากการลงมือทำและประสบการณ์จริง เช่น โรยทราบสีบนเลข 1 ขนาดใหญ่, ติดกระดุมเม็ดเล็กๆบนเลข 2 ขนาดใหญ่ เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้มีเวลาในการสังเกตรูปร่างของตัวเลข ทิศทางของตัวเลข เมื่อเด็กจดจำตัวเลขเป็นภาพได้ เด็กก็จะระบุตัวเลขได้ถูกต้อง
– สอนครั้งละ 1 ตัวเลขเท่านั้น
สำหรับเด็กวัยอนุบาล จำนวนและตัวเลขไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ผู้ใหญ่คิด เด็กต้องแทนค่าได้ จดจำสัญลักษณ์ตัวเลขได้ สรุปจำนวนได้ การสอนจึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบบีบอัดสอนทีละหลายๆตัว ขอให้พ่อแม่ย้ำเตือนตัวเองเสมอว่าสิ่งใดก็ตามที่ต้องใช้ความเข้าใจต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้เสมอ
– สอนซ้ำๆ
เมื่อเด็กยังไม่แม่นยำเรื่องจำนวนและตัวเลขที่เรียนรู้ไปแล้วเมื่อครั้งก่อน พ่อแม่และครูควรสอนซ้ำ เมื่อได้เรียนรู้ซ้ำเด็กจะทำความเข้าใจได้ดีมากขึ้น
– ชม ให้กำลังใจ และไม่คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป
เมื่อเด็กจดจำได้ ผู้สอนควรให้กำลังใจบนพฤติกรรมของเด็ก เช่น น้องชิชาเก่งมากเลยที่กลับบ้านไปทบทวนจนจำเลข 5 ได้แล้ว
ในแต่ละครั้งที่ลูกเรียนรู้ ลูกทำความเข้าใจได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่คาดหวังว่าวันนี้ “จะต้องได้ จะต้องได้” เพราะ หลายครั้งที่พ่อแม่ก็หงุดหงิดเอง และลูกก็รู้สึกไม่ดี
สมองส่วนอารมณ์ของเด็กวัยนี้ทำงานมากกว่าสมองส่วนเหตุผล เมื่อเด็กมีความสุขสนุกกับการเรียนรู้ ทักษะและศักยภาพของเด็กจะตามมาอย่างเป็นลำดับขั้นแต่หากเด็กไม่มีความสุขกับการเรียนรู้แล้ว การปฏิเสธก็จะตามมา
“ไม่เร่ง ไม่อัด ไม่สอนสิ่งที่ยากเกินวัย ไม่คาดหวังแต่สอนง่ายๆ ช้าๆ ซ้ำๆ และชมให้เป็น คือสิ่งที่จะต่อยอดศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเด็กให้พุ่งสูงต่อไป”
❤️ ด้วยรักและปรารถนาดี ❤️
ครูปุ๊ก Play Academy