วงจรการเล่นมีอยู่จริงในสมอง
แต่ต้องได้รับการกระตุ้นจึงจะทำงาน
.
“การเล่น” เป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติถึงขั้นฝังวงจรการเล่น (Play Circuit) ไว้ในสมองเพื่อขับเคลื่อนให้มนุษย์ต้องเล่น การเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคนเพราะการเล่นนำไปสู่การใช้ร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก) การพัฒนาสติปัญญา อารมณ์ และจิตใจด้วยวิธีที่มีความสุขและสอดรับกับการทำงานตามธรรมชาติของสมอง
.
วิทยาศาสตร์สมองสมัยใหม่พบว่าในสมองส่วนกลาง (Middle Brain) ของมนุษย์มี Play Circuit ฝังอยู่และรอที่จะได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมทั้งมนุษย์ด้วยกันเองและวัตถุรอบตัวในบรรยากาศที่สนุกเป็นอิสระ
เช่น
- เมื่อเด็กเห็นลูกบอลหรือสิ่งของรอบตัวจะนำมาเล่น
- เด็กวัยเรียนเมื่ออยู่ในโรงเรียนแล้วพบเพื่อนจะเล่นสนุกกัน
บรรยากาศที่ผู้ใหญ่ให้อิสระต่อการเล่น ไม่แทรกแซงการเล่น มีวัตถุรอบตัวทั้งของจากธรรมชาติและของเล่นที่สร้างสรรค์ต่างช่วยให้วงจรการเล่นสมบูรณ์
.
เมื่อ Play Circuit ได้รับการกระตุ้นจะเกิดการส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนหน้า (Cortex) ซึ่งทำหน้าที่คิดวิเคราะห์ จดจ่อ เรียนรู้หรือ EF และยังส่งสัญญาณไปยังสมองส่วน Cerebellum ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว การใช้กล้ามเนื้อ และการทำงานละเอียดที่เกิดจากมือและตาสัมพันธ์กัน เมื่อเด็กได้เล่นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจะทำให้วงจรสมองส่วนเล่นแข็งแรงเอื้อต่อการคิด ความจดจ่อ ส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อ พัฒนาทักษะทางสังคม และทำให้อารมณ์เบิกบานนำไปสู่พัฒนาการการและเป็นรากฐานของทักษะชีวิตที่ดีต่อไป
.
พ่อแม่ ครู และผู้ทำงานใกล้ชิดกับเด็กจึงควรทำกิจกรรมที่เด็กได้ลงมือทำผ่านวัตถุสิ่งของต่างๆและดำเนินกิจกรรมที่เน้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันภายใต้บรรยากาศที่สนุก อบอุ่น และให้เด็กได้มีเวลาได้เล่นอิสระที่เพียงพอ
Comments