playacademywebsite

22 ก.พ. 20221 นาที

ช่วงวัย 0 - 8 ขวบ คือช่วงเวลาแห่งการลงเสาเข็มและทำโครงสร้างหลักของบ้านให้แข็งแรง


 
ถ้าเปรียบชีวิตทั้งชีวิตเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ช่วงวัย 0 - 8 ขวบคือช่วงเวลาแห่งการลงเสาเข็มและทำโครงสร้างหลักของบ้านให้แข็งแรงเพื่อรองรับการเติบโตในช่วงวัยต่อๆไปของชีวิต
 

ถ้าโครงสร้างบ้านไม่แข็งแรงมาตั้งแต่แรก ผ่านไปไม่นานบ้านก็เริ่มร้าว ยิ่งถ้าพ่อแม่ยังคงไม่แก้ปัญหาที่พบเจอตั้งแต่เนิ่นๆอย่างจริงจังปล่อยให้ล่วงเลยไปตามกาลเวลา โครงสร้างบ้านก็กลายสภาพจากร้าวเป็นโอนเอน ตามมาด้วยการทรุด และพร้อมที่จะพังครืนลงมาง่ายๆเมื่อถึงจุดที่ชีวิตไปต่อได้ยากแล้ว

โครงสร้างชีวิตในช่วงแรกเกิดถึง 8 ขวบที่ไม่แข็งแรงนั้นกว่าร้อยละ 80 เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องใน 9 เรื่องต่อไปนี้

(1) เข้าใจผิดเรื่องพัฒนาการลูก คิดว่าเมื่อถึงเวลาก็ทำได้เอง ทั้งที่ธรรมชาติไม่ได้ให้ทุกอย่างมาพร้อมสรรพ อยากให้ลูกพัฒนาการดีพ่อแม่ต้องส่งเสริม

(2) ไม่ได้สร้างวินัยตั้งแต่ลูกยังเล็ก ลูกจึงไม่รู้จักหน้าที่ และสิ่งที่ตนเองต้องรับผิดชอบ ควบคุมตัวเองไม่ได้ทั้งที่รู้ว่าสิ่งที่กำลังลงมือทำนั้นไม่เหมาะสมซึ่งพบได้บ่อยในวัยรุ่นที่ใช้ยาเสพติด หนีเรียน มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากผลการสำรวจพบว่าวัยรุ่นเหล่านี้มีที่มาจากครอบครัวที่ไม่ฝึกวินัยอย่างจริงจังมาตั้งแต่เด็ก

(3) คิดว่า “เดี๋ยวโตก็ดีขึ้นเอง” พ่อแม่กลุ่มนี้รู้ว่าลูกมีปัญหา และอยากให้ปัญหาคลี่คลาย มีแต่ความตั้งใจว่าอยากให้ลูกดีขึ้นแต่ไม่ยอมลงมือแก้ปัญหาอย่างเอาจริง ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจต่อกระบวนการในการฝึกฝนให้ลูกปรับพฤติกรรมอย่างจริงจังตั้งแต่แรก รอคอยเพียงเวลาให้ลูกโตแล้วหวังให้เวลาเยียวยาให้ลูกดีขึ้นทั้งที่แท้จริงแล้วลูกอาจจะไม่ดีขึ้น และปัญหากลับยิ่งถ่าโถมมากกว่าเดิม

(4) พ่อแม่ไม่ได้สร้างอำนาจปกครองลูก เลี้ยงลูกแบบตามใจ ยอมทำตามความต้องการของลูก ปรนเปรอ ไม่กล้าตักเตือนหรือลงโทษเมื่อลูกทำผิดเพราะกลัวลูกเสียใจหรือไม่รักพ่อแม่ เป็นทูนหัวของบ่าวที่ลูกไม่มีความยำเกรง และไม่เชื่อฟังเพราะพ่อแม่อ่อนปวกเปียก และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของลูกเสมอ

(5) คาดหวังในตัวลูกทั้งแบบรู้ตัว และไม่รู้ตัว เช่น คิดว่าพูดครั้งเดียวแล้วลูกจะจำได้ มีวินัย และปฏิบัติตามที่คุยกันไว้โดยลืมธรรมชาติของเด็กว่าสมองส่วนเหตุผลยังไม่มั่นคง พ่อแม่ต้องพูดซ้ำ ทำให้ดูเป็นตัวอย่างไปอีกหลายปีกว่าลูกจะน้อมนำสิ่งเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในตัว

แม้แต่การสอนการบ้านหรือติวสอบให้ลูกวัยประถมศึกษาที่คาดว่าลูกน่าจะเข้าใจ ทำได้ทั้งหมด ได้คะแนนสูงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้แต่เมื่อลูกทำไม่ได้ก็ผิดหวัง เสียใจ เศร้า บั่นทอนสุขภาพจิตที่ดี จนลูกคิดว่าเขาผิด โทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ ขาด Self-Esteem และมีทัศนคติที่โทษตัวเองเสมอ

(6) ตำหนิมากกว่าชื่นชม ลงโทษโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ข่มขู่มากกว่าการให้ข้อเท็จจริง เด็กจึงจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน มักตอบสนองกับเหตุการณ์ต่างๆแบบสู้ซึ่งกลายเป็นความก้าวร้าวต่อไป บางครั้งเด็กใช้วิธีหนี หลีกเลี่ยง ยอมแพ้ รวมถึงสมยอม (ให้ทำอะไรก็ทำ) เด็กแบบนี้มักไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าโต้แย้งแต่ภายในเก็บกด เคียดแค้น ร้อนรน และรู้สึกไม่ปลอดภัย พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์ออกมาในวันหนึ่งเมื่อเขารับไม่ไหวแล้ว

(7) ไม่มีเวลาคุณภาพต่อกัน เกือบทุกวันที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้องเดียวกันแต่ต่างคนต่างทำกิจกรรมของตนเอง ลูกเล่นคนเดียว พ่อตอบไลน์ แม่เล่น Facebook อาจคุยกันบ้างแต่ไม่ใช่การฟังด้วยหัวใจ และโต้ตอบกันบ้างแต่ไม่ใช่คำพูดที่ไปพร้อมๆกับ Eye Contact

เวลาคุณภาพคือช่วงเวลาที่พ่อแม่และลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่มีสื่ออื่นเข้ามาแทรกแซงกิจกรรม โดยเฉลี่ยเพียงวันละ 20 - 30 นาทีก็เพียงพอต่อความต้องการของเด็กคนหนึ่งแล้ว

(8) “เงินซื้อได้ทุกอย่าง” จึงไม่ค่อยให้ลูกควบคุมตัวเอง ไม่ฝึกให้มีความพากเพียร วิริยะ อุตสาหะ เห็นว่าลำบากก็ไม่อยากให้ต้องเผชิญ ซื้อความสะดวกสบายทุกอย่างในชีวิต เปลี่ยนโรงเรียนไปเรื่อยเพื่อหนีปัญหา ลูกเติบโตขึ้นมาแบบขาดเหตุผล ไม่มีคงามแข็งแกร่งในชีวิต และพึ่งพาเงินมาก ทั้งที่แท้จริงแล้ว “เงินซื้อทุกอย่างในชีวิตไม่ได้” โดยเฉพาะความรู้สึกรัก และความจริงใจจากผู้อื่นที่อยู่รอบตัว

(9) การเลี้ยงดูแบบ Overprotective หรือทะนุถนอมมากเกินไป นั่นไม่ได้ โน้นไม่ดี ห้ามปีน ห้ามไป อย่าวิ่ง เดี๋ยวล้ม จนเด็กระแวดระวังทุกอย่าง กลัวทุกสิ่งว่าอาจไม่ปลอดภัย ไม่กล้าลงมือทำ และไม่รู้ว่าตรงไหนคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง
 

เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบนี้มีแนวโน้มปรับตัวยาก ไม่ค่อยไว้ใจใคร ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง และขี้กลัว ทั้งที่เด็กควรได้มีประสบการณ์ลองผิดลองถูก เรียนรู้จากผลการกระทำของตัวเองโดยอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่แต่ไม่ใช่การห้ามจนเด็กไม่ได้ลองทำ

สร้างลูกให้มีรากฐานที่แข็งแรงตั้งแต่แรกดีกว่ามากอบกู้ซ่อมแซมบ้านที่ทรุด และโอนเอนในภายหลัง รากฐานที่แข็งแรงใช้เวลาสร้างหลายปีก็จริงแต่คุ้มค่ามากต่อการใช้ชีวิตในอีกหลายสิบปีต่อจากนั้น พ่อแม่จะภูมิใจในการทำหน้าที่ของพ่อแม่ และลูกจะภูมิใจในชีวิตของตัวเองที่เดินมาถูกทางตั้งแต่แรกภายใต้การควบคุมดูแลของพ่อแม่คู่นี้
 

❤️ ด้วยรักจากใจ ❤️

ครูปุ๊ก - ชลมาศ คูหารัตนากร

นักสุขภาพจิตเด็ก และนักจัดกระบวนการเรียนรู้

ผู้อำนวยการสถาบัน Play Academy

    70
    0